เช็คระยะ กับการ ตรวจสภาพรถ การมีรถยนต์เป็นของตัวเองนั้นให้ความสะดวกสบายในการเดินทางแก่เจ้าของ แต่ภาระที่ตามมาจากการมีรถนั้น จะว่าจุกจิกก็อาจจะได้ เพราะรถยนต์นั้นต้องได้รับการดูแลและบำรุงรักษาตลอดเวลา จึงจะมีอายุการใช้งานคุ้มค่าราคารถ อีกอย่างหนึ่งเพราะเราฝากชีวิตไว้ในรถตลอดระยะเวลาการเดินทาง สภาพรถจึงควรอยู่ในสภาพที่ดี พร้อมใช้อย่างปลอดภัย ซึ่งเมื่อเราซื้อรถแล้ว จะมีคู่มือกำกับรถไว้ว่า เมื่อไหร่ต้องนำรถไปตรวจเช็คสภาพ เมื่อไหร่ควรเช็คอะไร เปลี่ยนอะไรบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่เราไม่ควรละเลย ควรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ลองมาดูข้อมูลคร่าวๆ สำหรับคนที่ยังไม่เคยมีรถ และอยากจะมีรถเป็นของตัวเอง คุณพร้อมหรือยังที่จะดูแลเอาใจใส่รถยนต์ของคุณ
โดยปกติแล้วเจ้าของรถทุกคันจำเป็นจะต้องนำรถเข้าตรวจสอบเช็คความเรียบร้อย และหมั่นเช็คระยะเป็นประจำอยู่แล้ว อาจจะทุก 5,000 หรือ 10,000 กิโลเมตร เพื่อเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง อะไหล่ชิ้นส่วนที่จำเป็นเพื่อให้รถใช้งานได้ยาวนานที่สุดเท่านี่จะเป็นไปได้ ซึ่งถือเป็นคนละกรณีกับการตรวจสภาพรถยนต์ประจำปี โดยรถที่จะต้องตรวจสภาพก่อนเสียภาษีประจำปีได้แก่
- รถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกทุกประเภท โดยไม่จำกัดอายุการใช้งาน ในกรณีนี้มีรถที่เข้าข่ายต้องนำรถไปตรวจดังต่อไปนี้ รถที่มีการดัดแปลงสภาพผิดไปจากที่จดทะเบียนไว้ เปลี่ยนสีหรือตัวรถ รถที่มีปัญหาเรื่องของเลขตัวถังหรือเลขเครื่องยนต์ รถที่มีคดีถูกโจรกรรมแล้วสามารถนำกลับคืนมาได้ รถที่ขาดต่อทะเบียนเกิน 1 ปี
- รถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ประเภทดังนี้
- รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ที่มีอายุใช้งานครบ 7 ปีขึ้นไป
- รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน ที่มีอายุใช้งานครบ 7 ปีขึ้นไป
- รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ที่มีอายุใช้งานครบ 7 ปีขึ้นไป
- รถจักรยานยนต์ที่มีอายุใช้งานครบ 5 ปีขึ้นไป
ในการนำรถไป ตรวจสภาพประจำปี สามารถนำไปตรวจได้ที่สถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) ซึ่งได้รับการอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกแล้ว โดยรถที่ต้องนำไปตรวจสภาพที่กรมการขนส่งทางบกเท่านั้นได้แก่ รถที่มีการดัดแปลงสภาพ รถที่เปลี่ยนสี เปลี่ยนเครื่องยนต์ รถที่มีปัญหาเกี่ยวกับเลขตัวถังหรือเลขเครื่องยนต์ รถที่ขาดการต่อทะเบียนนานเกิน 1 ปี
เจ้าของรถสามารถนำรถไปตรวจสภาพได้ล่วงหน้าไม่เกิน 3 เดือนก่อนถึงวันสิ้นอายุภาษีประจำปี โดยมีค่าใช้จ่ายในการนำรถไปตรวจดังนี้คือ รถจักรยานยนต์ 60 บาท รถยนต์ที่มีน้ำหนักรถเปล่าไม่เกิน 2,000 กิโลกรัม คันละ 200 บาท ส่วนรถยนต์ที่น้ำหนักรถเปล่าเกิน 2,000 กิโลกรัม คันละ 300 บาท ส่วนเอกสารที่จะต้องใช้มีเพียงแค่สมุดคู่มือทะเบียนรถเท่านั้น
ในกรณีตรวจไม่ผ่านเกณฑ์ ทางสถานตรวจรถจะแจ้งให้เจ้าของรถทราบถึงรายละเอียดที่จะต้องแก้ไข และนำกลับมาตรวจใหม่อีกครั้งภายใน 15 วัน โดยเสียค่าใช้จ่ายครึ่งหนึ่งของการตรวจครั้งแรก แต่ถ้าเกิน 15 วันหรือนำรถไปตรวจที่สถานตรวจรถอื่นจะต้องเสียค่าบริการเต็มจำนวตามปกติ กรณีเมื่อตรวจผ่านเรียบร้อยทางสถานตรวจรถจะออกใบรับรองการตรวจสภาพรถเพื่อนำไปใช้ดำเนินการต่อภาษีป้ายทะเบียนต่อไป
ถึงแม้ว่าการตรวจสภาพรถจะเป็นขั้นตอนที่บังคับให้เจ้าของรถทำเนื่องจากต้องทำเรื่องต่อทะเบียนป้ายภาษีรถยนต์ก็ตาม แต่ข้อดีคือทำให้เจ้าของรถทราบว่ารถยังใช้งานได้อยู่และไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นๆ ด้วย จะเป็นการดีถ้าเจ้าของรถตรวจสภาพรถด้วยตนเองเป็นระยะๆ ด้วยเช่นกัน
เช็คระยะกิโลเมตรไหน ต้องไปเช็คสภาพรถยนต์
แท้จริงแล้ว การตรวจเช็คสภาพรถนั้น ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่มักจะเกิดขึ้นยามที่เราประมาทนั่นเอง แต่โดยหลักๆ ที่เป็นคู่มือคู่รถก็คือ ยึดที่ระยะทางการใช้งานรถเป็นหลัก
เช็คทุกครั้ง ไม่จำกัดกิโล
- 1. ตรวจเช็ครถยนต์ เครื่องยนต์ เช็คระยะ เช็คสภาพ พร้อมใช้งานทุกครั้ง
- 2. การทำความสะอาดยาง ตามความจำเป็น
- 3. สัปดาห์ละครั้ง หรือเวลาไปเติมน้ำมัน
- 3.1 การเช็คระดับน้ำมันหล่อลื่นด้วย
- 3.2 การเช็คระดับของเหลวในแบตเตอรี่
- 3.3 การเช็คระดับน้ำหล่อเย็น
- 3.4 การเปิดเครื่องปรับอากาศให้ทำงาน 3 – 4 นาที
- 4. ภายใน 2 สัปดาห์ ควรมีการเช็คความดันลมยาง
การดูแลอีกหลายเรื่อง ใช้ระยะทางการใช้งานเป็นตัวกำหนดว่า ถึงเวลาตรวจเช็คสภาพแล้ว ซึ่งไล่ตามระยะทางที่ใช้งาน ซึ่งตัวแทนจำหน่ายรถแต่ละยี่ห้อ จะมีศูนย์ซ่อมบำรุงช่วยดูแลเรื่องรถของบริษัทตัวเองแล้วส่วนหนึ่ง อาจมีป้ายที่จะเตือนเจ้าของรถว่า ถึงเวลาที่ต้องนำรถเข้าศูนย์เมื่อผ่านการใช้งานไปถึงกิโลเมตรที่เท่าไหร่ แต่ในฐานะที่เราเป็นเจ้าของรถ การศึกษาหาความรู้เรื่องเหล่านี้ไว้บ้างย่อมดีแก่ตัวเองในการดูแลเอาใจใส่ มากกว่าจะปล่อยให้ทางศูนย์ดูแลแบบ 100% โดยที่เราไม่รู้อะไรเลย ขับอย่างเดียว เนื่องจากบางครั้ง อาจมีเหตุที่อาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนหรือตรวจสภาพก่อนถึงเวลากำหนด ข้อมูลที่ทางศูนย์กำหนดคือระยะมาตรฐานปกติเท่านั้น
- 1. เช็คระยะรอบแรกของการซื้อรถเบื้องต้นปกติ 1,500 กิโลเมตร หรือประมาณ 1 เดือน สิ่งที่ต้องเช็คมีดังนี้
- 1.1 ทำความสะอาดขั้วแบตเตอรี่
- 1.2 การเช็คสภาพท่อน้ำหล่อเย็น
- 1.3 การเช็คการสึกของยาง
- 1.4 การเช็คระดับน้ำมันเบรก
- 1.5 การเช็คฝาหม้อน้ำ
- 1.6 การเช็คความตึงของสายพานขับปั๊ม
- 1.7 การเช็คและปรับสายพานแอร์
- 2. เช็คระยะ 5,000 กิโลเมตร หรือเมื่อใช้ไปประมาณ 3 เดือน มีอุปกรณ์รถยนต์หลายอย่างที่ผ่านการใช้งานมาถึงจุดนี้ ก็เสื่อมได้ จึงต้องเช็คหลายอย่างด้วยกัน
- 2.1 การเช็คสายพานและปรับความตึง
- 2.2 การทำความสะอาดกรองอากาศ
- 2.3 การเช็คน้ำมันคลัตช์
- 2.4 การเช็คระดับน้ำมันในปั๊ม
- 2.5 การเช็คใบปัดน้ำฝน
- 2.6 การเช็คการทำงานของหัวฉีด
- 2.7 การทำความสะอาดคอยล์ร้อน
- 2.8 การเช็ครอยรั่วที่ข้อต่อ
- 2.9 การเช็คปริมาณน้ำยาทำความเย็น
- 3. เช็คระยะเมื่อรถวิ่งไปได้ 5,000 – 10,000 กิโลเมตร ต้องมีการเปลี่ยนน้ำมันหล่อลื่น หรือแม้แต่ยังใช้งานไม่ถึงกิโลเมตรดังกล่าว ในระยะเวลา 6 เดือนก็ควรสำรวจสภาพน้ำมันหล่อลื่น ทั้งนี้จะใช้วิธีดูฉลากของน้ำมันหล่อลื่นที่ใช้ก็ได้ หลักอีกอย่างที่ต้องไม่ลืมคือ ทุกครั้งที่เปลี่ยนน้ำมันหล่อลื่นต้องมีการเปลี่ยนกรองน้ำมันหล่อลื่นด้วย
- 4.เช็คระยะ 10,000 กิโลเมตร หรือเมื่อใช้รถไปนานประมาณ 6 เดือน ควรเช็คสภาพรถในเรื่องต่อไปนี้
- 4.1 การตั้งระยะหน้าทองขาวและเขี้ยวหัวเทียน
- 4.2 การสับเปลี่ยนตำแหน่งของยาง ซึ่งพื้นที่ถนนอาจทำให้ยางแต่ละเส้นสึกไม่เสมอกัน
- 4.3 การเช็คความลึกของดอกยาง
- 4.4 การเช็คระยะฟรีของแป้นคลัตช์
- 4.5 การเช็กระดับน้ำมันเกียร์อัตโนมัติ
- 4.6 การเช็คสภาพเบรก
- 4.7 การหล่อลื่นข้อต่อต่าง ๆ
จะเห็นว่า เมื่อรถวิ่งได้ระยะทาง 10,000 กิโลเมตรแล้ว ต้องระมัดระวังในเรื่องของความเสื่อม โดยเฉพาะของยางรถยนต์
- 5. เช็คระยะ 20,000 กิโลเมตรหรือประมาณปีละ 1 ครั้ง เมื่อผ่าน 20,000 กิโลเมตร เริ่มมีอุปกรณ์บางอย่างที่ต้องถึงเวลาเปลี่ยนใหม่แล้ว5.1 ต้องเช็คระยะช่องว่างของวาล์ว
- 5.2 การเช็คสายหัวเทียน
- 5.3 การเช็คฝาครอบจานจ่ายและหัวโรเตอร์
- 5.4 การเช็ควาล์ว พีซีวี
- 5.5 การล้างหม้อน้ำ
- 5.6 การเปลี่ยนชุดทองขาวและคอนเดนเซอร์ และให้ปรับไทม์มิ่งจุดระเบิด ทุกครั้งที่ตั้งระยะหน้าทองขาว ด้วย
- 5.7 การเปลี่ยนน้ำหล่อเย็น
- 5.8 การเปลี่ยนหัวเทียน
- 5.9 การเปลี่ยนกรองอากาศ
- 6. เช็คระยะ 40,000 กิโลเมตร หรือประมาณ 2 ปี มีอุปกรณ์สำคัญๆ ที่ต้องปรับเปลี่ยนในช่วงนี้เช่นกัน
- 6.1 การเปลี่ยนสายพาน
- 6.2 การเปลี่ยนน้ำมันเกียร์อัตโนมัติ
- 6.3 การเปลี่ยนสายพานขับปั๊ม
- 6.4 การเปลี่ยนสายพานแอร์
- 6.5 การเปลี่ยนใบปัดน้ำฝน
- 7. เช็คระยะ 60,000 กิโลเมตร หรือประมาณ 3 ปี
- 7.1 การเปลี่ยนสายหัวเทียน
- 7.2 การเปลี่ยนกรองน้ำมันเชื้อเพลิง
- 7.3 การทำความสะอาดคาร์บูเรเตอร์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น